บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สัจจะของศาสนาพุทธ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนธัมมจักกัปปวัตนสูตรให้กับปัจจวัคคีย์ พระองค์ยืนยันว่าพระองค์ค้นพบสัจจะแล้ว  และเป็นอริยสัจอันเป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว

นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ยังบอกวิธีที่จะเข้าไปรู้และเห็นความเป็นจริง (reality) และความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) อีกด้วย

ดังนั้น เรื่องนรก สวรรค์ พรหม อรูปพรหม นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์กายละเอียดต่างๆ เช่น ยักษ์ พญานาค เป็นต้น ก็คือ ความเป็นจริง (reality)  ส่วนนิพพานก็คือ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality)

พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องจักรวาล/เอกภพว่า มีมากมายมหาศาลหรือเป็นอนันตจักรวาล[7] แต่พระองค์ก็ไม่เคยทรงอธิบายเรื่องบิกแบง (Big bang) หรืออธิบายว่า ในขณะนี้อยู่ในช่วงของบิกแบง (Big bang) ไหน และ บิกแบง (Big bang) ต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

จะเห็นได้ว่า ความจริงของนักวิทยาศาสตร์นั้น เป็นความจริงทางกายภาพ ตาของนักวิทยาศาสตร์มองได้ไกลขนาดไหน ความรู้ก็ไปขนาดนั้น  ความรู้สมัยปัจจุบันมักจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ทำให้เห็น เช่น กล้องโทรทัศน์ เป็นต้น

ส่วนสัจจะของศาสนาพุทธนั้น ต้องศึกษาเข้าไปข้างในจิตของตนเอง  วิธีการศึกษาก็ต่างกัน ผลการศึกษาของต่างกัน แต่ความจริงบางอย่างอาจจะสอดคล้องกันได้

ในเมื่อทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ รวมถึงปรัชญาก็ต้องการค้นพบความจริงทางธรรมชาติเดียวกัน

สรุป

ความจริงของวิทยาศาสตร์กับสัจจะของศาสนาพุทธไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน ถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการหาความจริงของธรรมชาติเช่นเดียวกัน  แต่ระดับของความจริงที่ค้นหานั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ไม่มีเนื้อหาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้เลยว่า ความจริงที่พระพุทธองค์ทรงค้นหานั้น มีความคล้ายคลึงหรือสอดคล้องกับความจริงของปรัชญาตะวันตกและวิทยาศาสตร์

เท่าที่ศึกษาได้นั้น วิธีทางในการเสาะหาความจริงของพระพุทธองค์แตกต่างกับวิทยาศาสตร์และปรัชญาตะวันตกโดยสิ้นเชิง

พุทธวิชาการที่พยายามประกาศว่า ความจริงของศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์เก่านั้น ไม่กล้าเขียนหนังสือในทำนองนี้ออกมาแล้วอีกแล้ว เพราะ วิทยาศาสตร์เก่าถูกฟิสิกส์ใหม่ตีตกไปแล้ว

พุทธวิชาการยุคฟิสิกส์ใหม่ ก็เริ่มเดินทางผิดเช่นเดียวกัน เพราะพยายามโยงว่า ความจริงของศาสนาพุทธกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของฟิสิกส์ใหม่นั้น เป็นความจริงเดียวกัน

สิ่งที่น่าใคร่ครวญประการหนึ่งก็คือ กลศาสตร์ควอนตัม ก็เป็นทฤษฎีของฟิสิกส์ใหม่ และเป็นความจริงเท่าๆ กับทฤษฎีสัมพัทธภาพ  ทำไมพุทธวิชาการไม่กล่าวถึงบ้าง หรือเป็นเพราะ ไม่รู้จักกลศาสตร์ควอนตัม

สิ่งที่ควรใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่งก็คือ  ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดในโลกที่ประกาศออกมาว่า ความจริงของศาสนาพุทธตรงกับความจริงของวิทยาศาสตร์ 

ผู้ที่ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือทำหนังสือออกมาขาย โดยประกาศว่า ศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์นั้น ทั้งหมดเป็นคนไทยซึ่งไม่ได้ รู้และ เข้าใจฟิสิกส์ใหม่อย่างลึกซึ้งแต่ประการใด

เป็นเพียงทาส ซึ่งลุ่มหลงงมงายอยู่ว่า วิทยาศาสตร์ดีเลิศประเสริฐศรีเท่านั้น..

...........................................
อ้างอิง
[7] จากดั้งเดิมของภาษาอังกฤษที่ว่า universe ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “เอกภพ” นั้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ว่า “จักรวาล” นี้มีเพียงหนึ่งเดียว 

คำว่า “จักรวาล” ของภาษาอังกฤษเช่น สุริยจักรวาลนั้น มีความหมายแคบกว่า “ภพ” คือ เป็นส่วนหนึ่งของเอกภาพเท่านั้น  แต่คำว่า “จักรวาล” ในภาษาไทย หมายถึง “ภพ” ในภาษาอังกฤษ

พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “อนันตจักรวาล” ก็หมายถึงว่า จักรวาลหรือภพนั้น มีมากมายมหาศาล แบบไม่ต้องนับกันว่า มีเท่าไหร่

นักวิทยาศาสตร์เพิ่งมาพบเมื่อเร็วๆ นี้เองว่า จักรวาลไม่ได้มี “หนึ่ง” เดียว แต่มีมากมาย จึงตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นมา เช่น multi-universe หรือ multi-verse 
..........................................
บรรณานุกรม
Griffiths, D.E. 1978. Administrative Theory. Bombay: Prentice-Hall, Inc.
Fawcett, J., and Downs, F.S. The Relationship of Theory and Research. Connecticut: ACC.
Guralnik, D.B. 1984. Webster’s New World Dictionary. New York: Simon & Schuster.

บทความในชุดเดียวกัน



ความจริงของวิทยาศาสตร์

ในการหาความจริงในทางวิทยาศาสตร์นั้น นักวิทยาศาสตร์เขาไม่เคยมาตกลงกันทั้งโลกว่า เราควรมาวางแผนกันเพื่อหาความจริงทั้งโลกด้วยกัน แล้วแบ่งหน้าที่กันไป

นักวิทยาศาสตร์ ไม่เคยกระทำเช่นนั้น และก็จะไม่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มใดที่จะมาทำกันอย่างนั้น อย่างเด็ดขาด

ในทางที่เคยเป็นมาจะเป็นในลักษณะนี้ นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งกันศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไปตามลักษณะความสนใจและความถนัดของตน

วิทยาศาสตร์กายภาพก็แบ่งเป็นหลายพวก วิทยาศาสตร์ชีวภาพก็แบ่งเป็นหลายพวก  ขนาดแพทย์เองก็ยังแบ่งออกเป็นหลายสาขา  นักวิทยาศาสตร์แต่ละคนก็จะศึกษาสิ่งที่ตนเองสนใจ เมื่อศึกษาวิจัยแล้ว ก็จะบันทึกความรู้ที่ได้ไว้

ลักษณะเช่นนั้นก็จะเป็นคล้ายกับการเล่นจิกซอว์ (Jigsaw) แต่เป็นการเล่นจิกซอว์ที่ไม่มีตัวต่อภาพที่สำเร็จรูปที่พร้อมที่จะประกอบให้เป็นภาพใหญ่

และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในหลายๆ กรณีปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบภายหลังว่า ที่ศึกษากันไปไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีการรื้อการศึกษา นั้นทิ้งไป และเริ่มตั้งต้นการศึกษากันใหม่อีก

ที่แย่สุดๆ ก็คือ ในบางครั้งยังไม่มีการศึกษา ณ ตรงนั้นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์ก็จะระบายตัวต่อภาพจิกซอว์ใส่เข้าไปเอง โดยวิธีการอนุมานเอา

ในการศึกษานั้น ส่วนใหญ่แล้วนักวิทยาศาสตร์จะพบข้อปัญหาก่อน แล้วจึงเริ่มลงมือศึกษา นักวิทยาศาสตร์จะต้องกำหนดทฤษฎีความรู้ไว้ก่อนว่าจะศึกษาด้วยทฤษฎีใด แล้วหาเครื่องมือมาศึกษา

ในประเด็นข้อปัญหาเดียวกัน ถ้าใช้ทฤษฎีที่ศึกษาต่างกัน ผลของการศึกษาก็ออกมาแตกต่างกันไป เมื่อผลของการศึกษาหลายครั้งให้ผลสรุปที่ตรงกัน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้ว จึงมาตั้งเป็นกฎ (law) เช่น กฎของแรงโน้มถ่วงของนิวตัน เป็นต้น

ในตัวทฤษฎีนั้น มีนักวิชาการให้ความหมายไว้ดังนี้

Feigl (cited in Griffiths, 1978) กล่าวว่า ทฤษฎี หมายถึง ข้อความที่ประกอบด้วยชุดของข้อตกลงเบื้องต้น (assumptions) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นหลักการหรือคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้

Fawcett and Downs (1986) กล่าวว่า ทฤษฎี หมายถึง ข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ (principles) หรือมโนทัศน์ (concept) ซึ่งสามารถใช้สำหรับอธิบายปรากฏการณ์ ต่างๆ ได้

Webster’s New World Dictionary (1984, p. 1475) กล่าวว่า ทฤษฎีเป็นข้อความที่แสดงหลักการทั่วไปซึ่งพัฒนามาจากความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ของสิ่งที่สามารถสังเกตได้ในระดับหนึ่ง (แต่ยังไม่สามารถสังเกตยืนยันได้อย่างสมบูรณ์) เพื่อใช้สำหรับอธิบาย ปรากฏการณ์เฉพาะต่างๆ

จะเห็นได้ว่า ทฤษฏีนั้นก็คือ ข้อความอีกแล้ว

กรณีนี้ก็กลับมาเหตุการณ์ที่คล้ายกับ ความจริง (truth) ที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ เพราะ ทฤษฏี (theory) นั้น เมื่อเป็นข้อความของภาษาเสียแล้ว  ทฤษฏี (Theory) ต่างๆ ที่เสนอกันออกมา จะตรงกับความเป็นจริง (reality) หรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้  เพราะ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย

อันที่จริงแล้ว กฎ (law) ในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความแน่นอนมากกว่าทฤษฎียังถูกล้มล้างด้วยทฤษฎีใหม่ๆ เยอะแยะไป อย่างเช่น กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันถูกล้มล้างไปโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์เป็นต้น

จากเหตุผลและหลักฐานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีและความรู้จากทางวิทยาศาสตร์จึงพร้อมที่จะมีการแก้ไขได้ตลอดเวลา ไม่ว่าทฤษฎีของใคร แม้กระทั่งทฤษฎีของไอน์สไตน์เอง ก็พบว่า ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จะมีความรู้ที่ก้าวหน้าไปกว่ากรอบทฤษฎีของไอน์สไตน์แล้ว

เมื่อกล่าวเฉพาะถึงตัวของไอน์สไตน์  ไอน์สไตน์ก็ไม่ใช่เป็นคนที่ไม่มีข้อผิดพลาด ข้อสันนิษฐานของไอน์สไตน์หลายเรื่องเลยก็ผิดพลาด

เช่น ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะส่งดาวเทียมฮับเบิ้ลขึ้นไปถ่ายรูปเอกภพ (universe) [5] ได้   ไอน์สไตน์เชื่อว่า เอกภพรอบนอกของเราคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพบว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมฮับเบิ้ลยืนยันว่า เอกภพขยายตัว ไอน์สไตน์จึงเปลี่ยนทัศนคติ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เมื่อจันทรุเสกขรร นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย ใช้สูตรของไอน์สไตน์คำนวณได้ว่า ถ้ามีดวงอาทิตย์ที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 500 เท่า เกิดแรงดึงดูดภายในมากเข้าก็จะยุบตัวลงไป จนกระทั่งเอกภพเป็นรูโหว่ และมีแรงดึงดูดมหาศาล

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไป จะถูกดูดเข้าไป แม้กระทั่งแสงก็ไม่สามารถหลุดออกมาได้ จันทรุเสกขรรได้ตั้งชื่อสิ่งนี้ว่าหลุมดำ (Black hole)

เมื่อคำนวณได้เช่นนั้น จันทรุเสกขรรได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาไอน์สไตน์ ไอน์สไตน์กล่าวว่า เป็นไปได้ทางคำนวณเท่านั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางกายภาพ 

จันทรุเสกขรรได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเซอร์เอ็ดดิงตัน ก็ได้คำตอบในลักษณะเดียวกัน แต่แสบสันต์กว่า เพราะ เซอร์เอ็ดดิงตัน ตอบว่า เรื่องหลุมดำนั้น เป็นกลุ่มดาวของคนโง่ เท่านั้น

แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า เรื่องหลุมดำเป็นความจริง ในเอกภพของเรามีเป็นจำนวนมาก เฉพาะในกาแลกซี่ทางช้างเผือกของเราเองก็มีเป็นจำนวนมาก

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่า ความจริงของวิทยาศาสตร์นั้น เป็นข้อความที่ตรงกับความเป็นจริง (reality) ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่มีโอกาสที่จะพบความเป็นจริงเช่นนั้นได้

ดังนั้น ทฤษฎีและกฎทางวิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เป็นความจริง (truth) ที่ตรงกับ ความเป็นจริง (reality) แล้ว 

และจากการศึกษาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา พบว่า ทฤษฎีและกฎขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

เมื่อเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ของศาสนาพุทธแล้ว จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสเสมอๆ ว่า พระองค์ค้นพบอริยสัจแล้ว ซึ่งอริยสัจนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับศัพท์ของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ก็คือ ความจริง (truth) ที่ตรงกับ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality)

คำสอนอื่นๆ ที่เป็นสมมุติบัญญัติ เช่น การเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับวิชชา 2 วิชชาแรกที่พระองค์ตรัสรู้คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณ [6] นั้นก็คือ ความเป็นจริง (reality)

สิ่งที่แตกต่างอย่างยิ่งระหว่างองค์ความรู้ของปรัชญาและวิทยาศาสตร์กับศาสนาพุทธก็คือ ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึง ความเป็นจริง (reality) กับ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) ได้ แต่ในทางศาสนาพุทธทำได้โดยการปฏิบัติธรรม

...........................................
อ้างอิง
[5] คำว่า จักรวาลในภาษาบาลีตรงกับคำว่า เอกภพ (universe) ปัจจุบันนี้ ในทางฟิสิกส์ก็ยอมรับแล้วว่า เอกภพ (universe) มีมากมายนับไม่ถ้วน จึงตั้งชื่อเรียกเอกภพใหม่ว่าเป็น multi-universe หรือ multi-verse  การค้นพบดังกล่าว เป็นการค้นพบด้วยหลักการของทางฟิสิกส์ใหม่

[6] วิชชาสองในวิชชาสามที่พระพุทธเจ้าบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีการเวียนว่ายตายเกิดจริง  มีนรกสวรรค์จริง โปรดดูรายละเอียดด้านล่าง

บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เรานั้น  ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง  สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง  ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์  เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น  มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด  อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น  อันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ

จุตูปปาตญาณ 
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร  แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต  ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิด เป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต  มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้

จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4 จริง และพระองค์ตรัสเฉพาะวาจาที่จริงและเป็นประโยชน์  เราก็ต้องเชื่อว่า นรก สวรรค์ พรหม อรูปพรหม การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง

ซึ่งในประเด็นนี้ จะเห็นว่า พุทธวิชาการเลือกเชื่อในพระไตรปิฎกแต่เพียงบางอย่างเท่านั้น  และเลือกเชื่อน้อยมาก  เพราะ ตัดเรื่องที่ไม่มีเหตุผลในความคิด/ความเชื่อของตนออกไป

พวกพุทธวิชาการเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงนักปรัชญาคนหนึ่งเท่านั้น  ไม่ได้เชื่อว่า พระพุทธองค์มีความสามารถเหนือมนุษย์ดังที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎก

พุทธวิชาการจึงสอนและเผยแพร่ออกไปว่า อิทธิปาฏิหาริย์ นรก สวรรค์ไม่มีจริง  พวกที่เชื่อก็ไปตีความต่อว่า บุญบาปไม่มีจริง ไม่สามารถติดตัวไป ส่งผลให้ได้ดีหรือได้ชั่วในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปได้ ...

บทความในชุดเดียวกัน



พระไตรปิฎกเป็นความจริงทั้งหมด


ในช่วงต่อไป ผมจะอธิบายถึงความจริง (truth) ในทางศาสนาพุทธ แต่เนื่องจากพุทธวิชาการปัจจุบัน ทำเสียเรื่องไปเยอะ คือ ไปปฏิเสธเรื่องจำนวนมากเลยว่า เป็นมายาคติ (myth) ที่ไม่จริง โดยจะเลือกเชื่อเป็นบางเรื่องที่ยอมรับกันได้ในทางศาสตร์ตะวันตกเท่านั้น

ในการกระทำเช่นนั้น  พุทธวิชาการได้นำคำศัพท์ใหม่ๆ เข้ามีตีความเนื้อหาของพระไตรปิฎก จนผิดเพี้ยนไปอีกด้วย

ดังนั้นในบทความนี้ จึงต้องตั้งข้อตกลงกันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อนว่า เนื้อหาของพระไตรปิฎกนั้น ไม่ว่าจะดูแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะ ขัดกับสามัญสำนึก[3] เป็นอย่างยิ่ง  แต่เราก็ต้องยอมรับกันก่อนว่า เป็นความจริง (truth) ทั้งหมด

หลักฐานก็มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกมีพุทธพจน์ที่ว่า พระพุทธเจ้าจะตรัสแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ดังปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม 5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หัวข้อ วาจาที่ประกอบ ด้วยประโยชน์

ในพระสูตรนี้ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับเจ้าชายอภัยราชกุมาร ซึ่งสรุปได้ว่า

พระพุทธองค์ทรงแบ่งพระวาจาของพระองค์ด้วยเกณฑ์ ความจริง ประโยชน์ และความชอบใจของผู้ฟังออกเป็น 6 ประเภท  ดังนี้
1)  วาจาที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง
2) วาจาที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง
3) วาจาที่จริง ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง
4) วาจาที่จริง ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง
5) วาจาที่จริง เป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง
6) วาจาที่จริง เป็นประโยชน์ และเป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง

วาจาใน 4 ประเภทแรก พระพุทธองค์จะไม่ตรัสเลย 

ส่วนวาจา 2 ประเภทหลังนั้น พระองค์จะตรัส เมื่อเวลาอันสมควร คือ พระพุทธเจ้าจะกล่าวแต่เฉพาะวาจาที่จริงและเป็นประโยชน์ เท่านั้น

โดยสรุป

ในบทความนี้ เราต้องยอมรับกันโดยพื้นฐานว่า พระไตรปิฎกทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี เนื้อความทั้งหมดเป็นสัจจะ/ความจริง (truth) ทั้งนั้น 

สิ่งไหนที่ดูไม่มีเหตุผล หรือไร้สาระ เราก็ต้องยอมรับเสียก่อนว่า เรามีความรู้ไม่พอไม่ใช่ว่า ข้อความส่วนนั้นในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไป หรือถูกแต่งเติมเข้าไปเพื่อต้องการให้คนทำความดี [4]

แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของพระไตรปิฎก นักวิชาการพบว่า มีการแต่งเนื้อหาของพระไตรปิฎกเพิ่มเติมเข้าไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่มีการสังคายนากัน  ดังนั้น  เราก็ต้องมาตั้งข้อยอมรับกันใหม่ว่า

1) เนื้อความในพระไตรปิฎกที่เป็นพุทธพจน์เป็นความจริง

2) เนื้อความในพระไตรปิฎกที่ไม่เป็นพุทธพจน์ ก็อาจจะเป็นความจริงได้ ถ้านำพุทธพจน์มาอธิบายขยายความอย่างถูกต้อง

แต่ถ้านำพุทธพจน์อธิบายอย่างผิดเพี้ยน เพราะ ไปเชื่อเรื่องระบบเหตุผลของพราหมณ์-ฮินดูหรือเข้าใจผิดไปเอง เนื้อความส่วนนี้ของพระไตรปิฎกก็อย่าไปยึดถือว่าเป็นความจริง

3) เนื้อหาส่วนใด ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า เป็นการแต่งเพิ่มเข้าไป ก็ให้ถือเป็นความจริง (truth) ไว้ก่อน

จะเห็นได้ว่า ข้อความในพระไตรปิฎกจำนวน 45 เล่มนั้น  ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นพุทธพจน์ข้อความนั้นๆ ก็คือ ความจริง (truth)

สิ่งที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ก็คือ ความเป็นจริง (reality) ในทางศาสนาพุทธนั้น พุทธศาสนิกชนสามารถ เห็นได้

กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า 

ความเป็นจริง (reality) ในทางศาสนาพุทธนั้น สามารถทั้ง รู้และ เห็นได้ หรือสามารถทั้ง เห็นและ รู้ได้

หลักฐานในพระไตรปิฎกมีเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งผมมักจะยกตัวอย่างเสมอๆ ในข้อเขียนของผม 

สำหรับบทความนี้ ก็ขอยกตัวอย่างที่แต่สั้นๆ  ในส่วนที่พระพุทธองค์ทรงบรรยายเหตุการณ์ที่พระองค์บรรลุวิชชาสุดท้ายของวิชชาสาม ก่อนที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณว่า

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว

ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ

ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อเรานั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ

ข้อความที่ว่า รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ก็เป็นหลักฐานสำคัญว่า ในการพิจารณาหัวข้อธรรมะขั้นละเอียดลึกซึ้งจนถึงการบรรลุพระอรหันต์ต้องใช้การเห็นเป็นสำคัญ

พูดให้ง่ายเข้าก็คือ ทั้งเห็นทั้งรู้ และก็ทั้งรู้ทั้งเห็น จะรู้อย่างเดียวโดยปราศจากการเห็นไม่ได้ เพราะ รู้อย่างนั้นไม่ใช่การรู้แจ้งเห็นจริง

ขอยกตัวอย่างอีกพระสูตรหนึ่ง

ในขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงสอนพระสาวกอยู่  พระองค์ถามพระสารีบุตรที่อยู่ข้างๆ ว่า เชื่อคำสอนของพระองค์หรือไม่พระสารีบุตรตอบกลับว่า ไม่เชื่อ

พระสาวกที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ก็เริ่มส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะ อัครสาวกเบื้องขวาตอบยังงั้นกับพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายให้พระสาวกต่างๆ ฟังว่า ที่พระสารีบุตรกล่าวตอบอย่างนั้น น่ะถูกแล้ว เนื่องจากพระสารีบุตรเมื่อได้ฟังแล้วก็ไปปฏิบัติ 

พอปฏิบัติแล้วก็ได้รู้แจ้งเห็นจริงตามพระพุทธองค์ 

กล่าวโดยทั่วๆ ไปก็ว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นอย่างไร พระสารีบุตรก็รู้และเห็นอย่างนั้น พระสารีบุตรจึง เชื่อในภายหลัง

พระสูตรดังกล่าวนั้น มีข้อความดังนี้

ปุพพโกฏฐกสูตร  พระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า

[983] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:

[984] ดูกรสารีบุตร เธอเชื่อหรือว่า สัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด วิริยินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็น ที่สุด.

[985] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น พึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่น ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ก็แลอมตะนั้นชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นหมดความเคลือบแคลงสงสัย ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อมตะนั้น ข้าพระองค์รู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ข้าพระองค์จึงหมดความเคลือบแคลงสงสัย ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

พระสูตรนี้ ยืนยันให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของศาสนาพุทธที่ว่า การร่ำเรียนปริยัติอย่างเดียว อย่างที่พุทธวิชาการในปัจจุบันประพฤติปฏิบัติกันอยู่นั้น ไม่สามารถได้รับ ปฏิเวธได้เลย

และความรู้ที่ได้จากการคาดคะเนบ้าง นึกเอาบ้าง อนุมาน (infer) เอาบ้าง ก็ไม่มีทางตรงกับความเป็นจริง (reality) ของศาสนาพุทธได้เลย

นอกจากนั้นแล้ว ยังบ่งบอกถึงถึงข้อจำกัดของภาษาได้เป็นอย่างดี  คือ ภาษานี่ไม่ได้หมายความว่าจะสื่อสาร ความเป็นจริงได้ ภาษาสื่อสารได้แต่มโนทัศน์ (concept) เท่านั้น 

เช่น ถ้าผมพูดว่า แมวมาคำหนึ่ง  ทุกคนที่เป็นคนไทยจะเข้าใจมาผมหมายถึงสัตว์ประเภทไหน แต่ แมวที่ผมพูดถึงนี่ ไม่ใช่หมายถึงแมวตัวหนึ่งตัวใดในโลกนี้  แต่เป็นเพียงมโนทัศน์ (concept) ของแมวเท่านั้น 

ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังแล้ว แต่ไม่นำไปปฏิบัติ ก็ไม่มีทางเข้าถึง ความเป็นจริง (reality) ของทางศาสนาได้

ขอสรุปในเบื้องต้นนี้ก่อนว่า

ข้อเท็จจริง (fact) คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ความจริง (truth) คือ ข้อความหรือภาษาที่ตรงกับข้อเท็จจริง (fact) หรือความเป็นจริง (reality) โดยส่วนใหญ่แล้วในทางวิทยาศาสตร์มีความเป็นจริง (reality) เป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้

เช่น แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง หรือคลื่นวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น แต่ความเป็นจริง (reality) ในทางศาสนาพุทธ สามารถเข้าถึงได้โดยการปฏิบัติธรรม

ในทางศาสนาพุทธนั้น ความเป็นจริง (reality) ยังสามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ลักษณะคือ สังขตะกับอสังขตะ

ความเป็นจริง (reality) ที่เป็นสังขตะนั้น คือ ความเป็นจริง (reality) ที่ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่ จึงเปลี่ยนแปลงสภาวะไปเรื่อย คือ เป็นอนิจจัง/ทุกขัง/อนัตตา ก็หมายถึง นรก สวรรค์ รูปพรหม อรูปพรหม รวมถึง อิทธิปาฏิหาริย์ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย เป็นต้น

ส่วนความเป็นจริง (reality) ที่เป็นอสังขตะคือ ความเป็นจริง (reality) ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ซึ่งก็คือ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) หรือนิพพาน

สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในขณะที่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ไม่สามารถเข้าถึงได้เลยก็คือ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) เพราะขนาดความเป็นจริง (reality) ยังไม่สามารถเข้าถึงได้เลย แต่พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าถึงความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) หรือนิพพานได้

...........................................
อ้างอิง
[3] คนที่ไม่เชื่อศาสนาพุทธเพราะเห็นว่ามี เนื้อหาจำนวนมาก ไม่น่าจะเป็นจริงเพราะขัดกับสามัญสำนึก ก็ขอให้เปรียบเทียบกับทฤษฎีของฟิสิกส์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ เพราะ เป็นเรื่องขัดสามัญสำนึกเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่าง เราสามารถจะเข้าไปในอดีตได้ด้วยกายเนื้อ ถ้ามีพาหนะที่มีความเร็วใกล้แสง เป็นต้น  พูดง่ายๆ ก็คือ ความเป็นจริง (reality) ของฟิสิกส์ใหม่ เชื่อยากกว่าความเป็นจริง (reality) ของศาสนาพุทธเสียอีก

[4] ตรงนี้เป็นความวิตกกังวลส่วนตัวของผู้เขียนเอง ที่จะพบคำอธิบายของพุทธวิชาการที่มีชื่อเสียงอย่างน้อย 2 คน อธิบายพระไตรปิฎกบางส่วนว่า ตรงนี้พระไตรปิฎกเขียนไว้ไม่ชัด” 

ซึ่งแสดงถึงความหลงตัวหลงตนของผู้เขียนทั้ง 2 ท่านนั้น  อันที่จริงแล้ว มันน่าจะเกิดจากพุทธวิชาการทั้ง 2 ท่านนั้นมากกว่า ที่ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างไม่ครบถ้วน  แทนที่จะโทษตัวเอง กลับไปโทษว่า พระไตรปิฎกเขียนไว้ไม่ชัดเจน


บทความในชุดเดียวกัน