บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ความหมายของ “จริง” ต่างๆ

วิทยาศาสตร์ทั้งเก่าและฟิสิกส์ใหม่มีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาตะวันตก ดังนั้น ในการตรวจสอบคำศัพท์  นักวิชาการจะตรวจดูว่า คำศัพท์นั้นๆ ในทางปรัชญามีการใช้อย่างไร

ในทางปรัชญาตะวันตกนั้น มีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับสิ่งที่ว่า จริงนั้นมีอยู่ 5 คำคือ
  • ข้อเท็จจริง (fact)
  • ความจริง (truth)
  • ความเป็นจริง (reality)
  • ความจริงขั้นสุดท้าย (ultimate truth)
  • ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality)
ในทางศาสนาพุทธ คำศัพท์ที่เกี่ยวกับสิ่งที่ว่า  จริงนั้นมีคำเดียวคือ สัจจะคำทั้ง 6 คำดังกล่าว มีความเป็นมา สถานภาพ และความหมายที่ต่างกัน ดังนี้

คำที่เกี่ยวกับ จริงในปรัชญาตะวันตกเมื่อเปรียบเทียบกับความหมายหรือข้อความที่ตรงกันกับข้อความของพุทธเถรวาทมี 4 คำ คือ
  • ข้อเท็จจริง (fact)
  • ความจริง (truth)
  • ความเป็นจริง (reality)
  • ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality)
ส่วนคำว่า ความจริงขั้นสุดท้าย (ultimate truth) นั้น ไม่มีข้อความใดของพุทธเถรวาทตรงกับความหมายนี้ ดังที่จะได้อธิบายต่อไป

1) ข้อเท็จจริง (fact)
พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า  ข้อเท็จจริงหมายถึง
  • ปรากฏการณ์ของแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้น
  • ความจริงที่ประจักษ์ชัด
  • เหตุการณ์ที่เป็นจริง
จากความหมายของคำว่า ข้อเท็จจริง (fact) ” จะเห็นว่า คำนี้ความหมายง่ายๆ ไม่สลับ ซับซ้อนอะไร เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นมา ก็เป็นข้อเท็จจริง (fact) ของเหตุการณ์นั้นๆ

2) ความจริง (truth)
พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า ความจริง หมายถึง คุณสมบัติของข้อความที่มีลักษณะพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่ปรากฏในทฤษฎีความจริงที่สำคัญ 3 ทฤษฎีต่อไปนี้
  • ทฤษฎีความจริงแบบสหนัย (coherence theory of truth) ทฤษฎีความจริงแบบนี้ ถือว่า ข้อความใดจะจัดได้ว่าจริง ข้อความนั้นต้องสอดคล้องกับข้อความอื่นๆ ที่อยู่ในระบบเดียวกัน
  • 2) ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย (correspondence theory of truth) ทฤษฎีความจริงแบบนี้ ถือว่า ข้อความที่จัดว่าจริง คือ ข้อความที่มีความตรงกันกับข้อเท็จจริง
  • 3) ทฤษฎีความจริงแบบปฏิบัตินิยม (pragmatic theory of truth) ทฤษฎีความจริงแบบนี้ ถือว่า ข้อความใดที่นำไปใช้ได้ผลจริงตามที่คาดหมาย ข้อความนั้นถือว่าจริง
โดยสรุป ความจริงในวิชาปรัชญาทั้ง 3 ทฤษฎีข้างต้น เน้นไปที่ ข้อความซึ่งก็หมายถึง ข้อความในภาษานั่นเอง 

ตรงนี้ขอให้ทำความเข้าใจกันให้ดี ความจริง (truth)” หมายถึง ข้อความหรือคำบอกเล่าเท่านั้น

ตอนนี้ เรามาทำความเข้าใจกันระหว่างข้อเท็จจริง (fact) กับ ความจริง (truth)” เสียก่อน 

ในช่วงที่กำลังปรับปรุงบทความชิ้นนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังประท้วงรัฐบาลอยู่ที่กรุงเทพฯ มีการล้อมทำเนียบรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกันกับการกระทำของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ทำมาเมื่อปี พ.ศ. 2551

เหตุการณ์คนเสื้อแดงล้อมทำเนียบนั้นเป็น ข้อเท็จจริง (fact) แต่ถ้าเมื่อใด มีคนนำ ข้อเท็จจริง (fact) ดังกล่าวไปเล่า หรือไปเขียน หรือไปทำข่าว ฯลฯ ข้อความ/คำบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น จะกลายเป็น ความจริง (truth)” ขึ้นมาทันที

ถ้ามีวาทกรรมการเล่าเหตุการณ์นั้น หลายๆ คน หลายๆ แหล่งข่าว ความจริง (truth) ของเหตุการณ์คนเสื้อแดงล้อมทำเนียบก็อาจจะไม่ตรงกันได้  ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น ขึ้นกับว่า เราไปอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับไหน ไปดูข่าวของโทรทัศน์ หรือทีวีช่องใด

อย่างนี้ในทางรัฐศาสตร์มีคำกล่าวที่ว่า ความจริงทางการเมืองนั้น มีหลายชุด[1]

3) ความเป็นจริง (reality)

พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ 2 ประการ ดังนี้
  • ความเป็นจริง คือ ภาวะที่มีอยู่จริง ภาวะที่เป็นอย่างนั้นแน่แท้ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
  • คือ สิ่งที่มีอยู่จริง เป็นอยู่จริง ซึ่งอาจรู้ได้ หรือไม่อาจรู้ได้ทางประสาทสัมผัส
จากความหมายของ ความเป็นจริง (reality)” จะเห็นว่า นักปรัชญาตะวันตกเชื่อว่า มีสภาวะความเป็นจริงอยู่หลังปรากฏการณ์ที่มนุษย์สัมผัสรับรู้ได้ แต่สภาวะความเป็นจริงนั้น ประสาทสัมผัสของมนุษย์อาจจะสัมผัสได้หรือไม่ได้ก็ไม่แน่ใจ

ถ้าสัมผัสได้ก็แสดงว่า มนุษย์สามารถรู้ถึงความเป็นจริง (reality) ได้  แต่ถ้าสัมผัสไม่ได้ ก็แสดงว่า มนุษย์ไม่สามารถรู้ถึงความเป็นจริง (reality) ได้

เมื่อพูดถึงเรื่องประสาทสัมผัส จะเริ่มเห็นร่องรอยของความแตกต่างระหว่างศาสตร์ตะวันตกกับศาสนาพุทธแล้ว  ประสาทสัมผัสของศาสตร์ตะวันตกมีเพียง 5 ประการ คือ หู ตา จมูก ลิ้น และ กาย  แต่ประสาทสัมผัสของศาสนาพุทธ มี 6 ประการ คือ เพิ่ม ใจเข้าไป

ในขณะที่ศาสตร์ตะวันตก ไม่แน่ใจว่า จะรู้ถึงความเป็นจริง (reality) ได้หรือไม่  แต่ศาสนาพุทธยืนยันว่า ในการปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชนผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเข้าไปรับรู้ ความเป็นจริง (reality) ได้

...........................................
อ้างอิง
[1] ในกรณีที่สนใจความจริงทางการเมืองนี้ อาจจะอ่านดุษฎีนิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของผมก็ได้ ชื่อ ความจริงกับการใช้เหตุผลในคำอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์” ที่หอสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น