บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ความจริงของวิทยาศาสตร์

ในการหาความจริงในทางวิทยาศาสตร์นั้น นักวิทยาศาสตร์เขาไม่เคยมาตกลงกันทั้งโลกว่า เราควรมาวางแผนกันเพื่อหาความจริงทั้งโลกด้วยกัน แล้วแบ่งหน้าที่กันไป

นักวิทยาศาสตร์ ไม่เคยกระทำเช่นนั้น และก็จะไม่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มใดที่จะมาทำกันอย่างนั้น อย่างเด็ดขาด

ในทางที่เคยเป็นมาจะเป็นในลักษณะนี้ นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งกันศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไปตามลักษณะความสนใจและความถนัดของตน

วิทยาศาสตร์กายภาพก็แบ่งเป็นหลายพวก วิทยาศาสตร์ชีวภาพก็แบ่งเป็นหลายพวก  ขนาดแพทย์เองก็ยังแบ่งออกเป็นหลายสาขา  นักวิทยาศาสตร์แต่ละคนก็จะศึกษาสิ่งที่ตนเองสนใจ เมื่อศึกษาวิจัยแล้ว ก็จะบันทึกความรู้ที่ได้ไว้

ลักษณะเช่นนั้นก็จะเป็นคล้ายกับการเล่นจิกซอว์ (Jigsaw) แต่เป็นการเล่นจิกซอว์ที่ไม่มีตัวต่อภาพที่สำเร็จรูปที่พร้อมที่จะประกอบให้เป็นภาพใหญ่

และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในหลายๆ กรณีปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบภายหลังว่า ที่ศึกษากันไปไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีการรื้อการศึกษา นั้นทิ้งไป และเริ่มตั้งต้นการศึกษากันใหม่อีก

ที่แย่สุดๆ ก็คือ ในบางครั้งยังไม่มีการศึกษา ณ ตรงนั้นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์ก็จะระบายตัวต่อภาพจิกซอว์ใส่เข้าไปเอง โดยวิธีการอนุมานเอา

ในการศึกษานั้น ส่วนใหญ่แล้วนักวิทยาศาสตร์จะพบข้อปัญหาก่อน แล้วจึงเริ่มลงมือศึกษา นักวิทยาศาสตร์จะต้องกำหนดทฤษฎีความรู้ไว้ก่อนว่าจะศึกษาด้วยทฤษฎีใด แล้วหาเครื่องมือมาศึกษา

ในประเด็นข้อปัญหาเดียวกัน ถ้าใช้ทฤษฎีที่ศึกษาต่างกัน ผลของการศึกษาก็ออกมาแตกต่างกันไป เมื่อผลของการศึกษาหลายครั้งให้ผลสรุปที่ตรงกัน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้ว จึงมาตั้งเป็นกฎ (law) เช่น กฎของแรงโน้มถ่วงของนิวตัน เป็นต้น

ในตัวทฤษฎีนั้น มีนักวิชาการให้ความหมายไว้ดังนี้

Feigl (cited in Griffiths, 1978) กล่าวว่า ทฤษฎี หมายถึง ข้อความที่ประกอบด้วยชุดของข้อตกลงเบื้องต้น (assumptions) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นหลักการหรือคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้

Fawcett and Downs (1986) กล่าวว่า ทฤษฎี หมายถึง ข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ (principles) หรือมโนทัศน์ (concept) ซึ่งสามารถใช้สำหรับอธิบายปรากฏการณ์ ต่างๆ ได้

Webster’s New World Dictionary (1984, p. 1475) กล่าวว่า ทฤษฎีเป็นข้อความที่แสดงหลักการทั่วไปซึ่งพัฒนามาจากความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ของสิ่งที่สามารถสังเกตได้ในระดับหนึ่ง (แต่ยังไม่สามารถสังเกตยืนยันได้อย่างสมบูรณ์) เพื่อใช้สำหรับอธิบาย ปรากฏการณ์เฉพาะต่างๆ

จะเห็นได้ว่า ทฤษฏีนั้นก็คือ ข้อความอีกแล้ว

กรณีนี้ก็กลับมาเหตุการณ์ที่คล้ายกับ ความจริง (truth) ที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ เพราะ ทฤษฏี (theory) นั้น เมื่อเป็นข้อความของภาษาเสียแล้ว  ทฤษฏี (Theory) ต่างๆ ที่เสนอกันออกมา จะตรงกับความเป็นจริง (reality) หรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้  เพราะ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย

อันที่จริงแล้ว กฎ (law) ในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความแน่นอนมากกว่าทฤษฎียังถูกล้มล้างด้วยทฤษฎีใหม่ๆ เยอะแยะไป อย่างเช่น กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันถูกล้มล้างไปโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์เป็นต้น

จากเหตุผลและหลักฐานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีและความรู้จากทางวิทยาศาสตร์จึงพร้อมที่จะมีการแก้ไขได้ตลอดเวลา ไม่ว่าทฤษฎีของใคร แม้กระทั่งทฤษฎีของไอน์สไตน์เอง ก็พบว่า ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จะมีความรู้ที่ก้าวหน้าไปกว่ากรอบทฤษฎีของไอน์สไตน์แล้ว

เมื่อกล่าวเฉพาะถึงตัวของไอน์สไตน์  ไอน์สไตน์ก็ไม่ใช่เป็นคนที่ไม่มีข้อผิดพลาด ข้อสันนิษฐานของไอน์สไตน์หลายเรื่องเลยก็ผิดพลาด

เช่น ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะส่งดาวเทียมฮับเบิ้ลขึ้นไปถ่ายรูปเอกภพ (universe) [5] ได้   ไอน์สไตน์เชื่อว่า เอกภพรอบนอกของเราคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพบว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมฮับเบิ้ลยืนยันว่า เอกภพขยายตัว ไอน์สไตน์จึงเปลี่ยนทัศนคติ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เมื่อจันทรุเสกขรร นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย ใช้สูตรของไอน์สไตน์คำนวณได้ว่า ถ้ามีดวงอาทิตย์ที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 500 เท่า เกิดแรงดึงดูดภายในมากเข้าก็จะยุบตัวลงไป จนกระทั่งเอกภพเป็นรูโหว่ และมีแรงดึงดูดมหาศาล

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไป จะถูกดูดเข้าไป แม้กระทั่งแสงก็ไม่สามารถหลุดออกมาได้ จันทรุเสกขรรได้ตั้งชื่อสิ่งนี้ว่าหลุมดำ (Black hole)

เมื่อคำนวณได้เช่นนั้น จันทรุเสกขรรได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาไอน์สไตน์ ไอน์สไตน์กล่าวว่า เป็นไปได้ทางคำนวณเท่านั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางกายภาพ 

จันทรุเสกขรรได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเซอร์เอ็ดดิงตัน ก็ได้คำตอบในลักษณะเดียวกัน แต่แสบสันต์กว่า เพราะ เซอร์เอ็ดดิงตัน ตอบว่า เรื่องหลุมดำนั้น เป็นกลุ่มดาวของคนโง่ เท่านั้น

แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า เรื่องหลุมดำเป็นความจริง ในเอกภพของเรามีเป็นจำนวนมาก เฉพาะในกาแลกซี่ทางช้างเผือกของเราเองก็มีเป็นจำนวนมาก

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่า ความจริงของวิทยาศาสตร์นั้น เป็นข้อความที่ตรงกับความเป็นจริง (reality) ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่มีโอกาสที่จะพบความเป็นจริงเช่นนั้นได้

ดังนั้น ทฤษฎีและกฎทางวิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เป็นความจริง (truth) ที่ตรงกับ ความเป็นจริง (reality) แล้ว 

และจากการศึกษาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา พบว่า ทฤษฎีและกฎขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

เมื่อเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ของศาสนาพุทธแล้ว จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสเสมอๆ ว่า พระองค์ค้นพบอริยสัจแล้ว ซึ่งอริยสัจนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับศัพท์ของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ก็คือ ความจริง (truth) ที่ตรงกับ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality)

คำสอนอื่นๆ ที่เป็นสมมุติบัญญัติ เช่น การเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับวิชชา 2 วิชชาแรกที่พระองค์ตรัสรู้คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณ [6] นั้นก็คือ ความเป็นจริง (reality)

สิ่งที่แตกต่างอย่างยิ่งระหว่างองค์ความรู้ของปรัชญาและวิทยาศาสตร์กับศาสนาพุทธก็คือ ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึง ความเป็นจริง (reality) กับ ความเป็นจริงสูงสุด (ultimate reality) ได้ แต่ในทางศาสนาพุทธทำได้โดยการปฏิบัติธรรม

...........................................
อ้างอิง
[5] คำว่า จักรวาลในภาษาบาลีตรงกับคำว่า เอกภพ (universe) ปัจจุบันนี้ ในทางฟิสิกส์ก็ยอมรับแล้วว่า เอกภพ (universe) มีมากมายนับไม่ถ้วน จึงตั้งชื่อเรียกเอกภพใหม่ว่าเป็น multi-universe หรือ multi-verse  การค้นพบดังกล่าว เป็นการค้นพบด้วยหลักการของทางฟิสิกส์ใหม่

[6] วิชชาสองในวิชชาสามที่พระพุทธเจ้าบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีการเวียนว่ายตายเกิดจริง  มีนรกสวรรค์จริง โปรดดูรายละเอียดด้านล่าง

บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เรานั้น  ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง  สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง  ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์  เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น  มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด  อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น  อันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ

จุตูปปาตญาณ 
เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร  แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต  ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิด เป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต  มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้

จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4 จริง และพระองค์ตรัสเฉพาะวาจาที่จริงและเป็นประโยชน์  เราก็ต้องเชื่อว่า นรก สวรรค์ พรหม อรูปพรหม การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง

ซึ่งในประเด็นนี้ จะเห็นว่า พุทธวิชาการเลือกเชื่อในพระไตรปิฎกแต่เพียงบางอย่างเท่านั้น  และเลือกเชื่อน้อยมาก  เพราะ ตัดเรื่องที่ไม่มีเหตุผลในความคิด/ความเชื่อของตนออกไป

พวกพุทธวิชาการเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงนักปรัชญาคนหนึ่งเท่านั้น  ไม่ได้เชื่อว่า พระพุทธองค์มีความสามารถเหนือมนุษย์ดังที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎก

พุทธวิชาการจึงสอนและเผยแพร่ออกไปว่า อิทธิปาฏิหาริย์ นรก สวรรค์ไม่มีจริง  พวกที่เชื่อก็ไปตีความต่อว่า บุญบาปไม่มีจริง ไม่สามารถติดตัวไป ส่งผลให้ได้ดีหรือได้ชั่วในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปได้ ...

บทความในชุดเดียวกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น